JPost In Jerusalem ข่าวส่งตรงจากเยรูซาเล็มทุกวัน

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเมืองการปกครอง

- อิสราเอลปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภา Knesset มีวาระครั้งละ 7 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้แก่นาย Shimon Peres ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550 คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งมีวาระครั้งละ 4 ปี รัฐบาลชุดปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อ 28 มีนาคม 2549 นำโดยนายกรัฐมนตรี Ehud Olmert จากพรรค Kadima ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 5 พรรค คือ 1) Kadima 9 ตำแหน่ง 2) Labour 6 ตำแหน่ง 3) Shas 4 ตำแหน่ง 4) Gil 2 ตำแหน่ง และไม่สังกัดพรรค 1 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 22 คน (Yisrael Beiteinu ซึ่งเป็นพรรคนิยมขวามี 2 ตำแหน่ง ลาออก ม.ค. 51 เนื่องจากไม่พอใจนโยบายการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์)


- สมาชิกสภา Knesset ซึ่งทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรและสถาบันทางนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิก 120 คน มีวาระครั้งละ 4 ปี ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคสำคัญ ๆ ดังนี้ 1) Kadima ซึ่งเป็นพรรคสายกลาง 29 ที่นั่ง 2) Labour ซึ่งเป็นพรรคนิยมซ้าย 19 ที่นั่ง 3) Shas ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม (Ultra-orthodox) 12 ที่นั่ง 4) Likud ซึ่งเป็นพรรคนิยมขวาสายกลาง 12 ที่นั่ง 5) Yisrael Beiteinu ซึ่งเป็นพรรคนิยมขวา 11 ที่นั่ง 6) National Union ซึ่งเป็นพรรคนิยมขวา 9 ที่นั่ง และ 7) Gil ซึ่งเป็นพรรคของผู้เกษียณอายุ 7 ที่นั่ง


- รัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญสูงสุดต่อนโยบายความมั่นคงภายในประเทศ และการป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวอิสราเอล ความล้มเหลวของการเจรจาสันติภาพและการลุกฮือด้วยกำลังของชาวปาเลสไตน์ (Intifada) ในปี 2543 ได้นำไปสู่วงจรความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอิสราเอลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของปาเลสไตน์ โดยกลุ่มฮามาสเมื่อเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งประกาศไม่ยอมรับการมีอยู่ของรัฐอิสราเอล ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เพิ่มความตึงเครียดขึ้น


- อนึ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 กลุ่มฮามาสสามารถยึดครองฐานที่ตั้งของฝ่ายฟาตาห์ทั้งหมดในกาซา ส่งผลให้ประธานาธิบดี Mahmoud Abbas ประกาศกฎอัยการศึก และประกาศถอดถอนนายกรัฐมนตรี Ismail Haniyaa ผู้นำฝ่ายฮามาส และถอดถอนรัฐมนตรีฝ่ายฮามาสทั้งหมด โดยแต่งตั้งนาย Salam Fayyad อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปาเลสไตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีปาเลสไตน์ชุดใหม่ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มฟาตาห์ทั้งหมด โดยมีฐานที่ตั้งในเขตเวสต์แบงค์


- อิสราเอล สหรัฐอเมริกา EU รัสเซีย (กลุ่ม Quartet) OIC และ อียิปต์ มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลปาเลสไตน์ภายใต้กลุ่มฟาตาห์ โดยอิสราเอลได้เริ่มเจรจาสันติภาพอีกครั้งกับประธานาธิบดี Abbas และได้โอนเงินภาษีปาเลสไตน์ที่อิสราเอลยึดไว้คืนให้ 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมด 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ (ฝ่ายฟาตาห์) 255 คน จากทั้งหมด 11,000 คน รวมทั้ง อภัยโทษให้ผู้ต้องหาปาเลสไตน์หัวรุนแรง ซึ่งประธานาธิบดี Abbas ได้สั่งการให้กลุ่มติดอาวุธฟาตาห์เกือบทั้งหมด 300 คน วางอาวุธ เพื่อเป็นการตอบแทน


- อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังคงมีความระมัดระวังในการเจรจากับกลุ่มฟาตาห์ โดยยังไม่ละทิ้งข้อเรียกร้องให้กลุ่มฟาตาห์เจรจาให้กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่นๆ ยอมรับเงื่อนไข 3 ประการของกลุ่ม Quartet ได้แก่ (1) การยุติความรุนแรง (2) การยอมรับการมีอยู่ของอิสราเอล และ (3) การยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงสันติภาพที่ผ่านมา


- อนึ่ง อิสราเอลยังมีท่าทีไม่ไว้วางใจกลุ่มฟาตาห์มากนัก โดยยังไม่ส่งมอบอำนาจการดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งหมดในเวสต์แบงค์ให้กลุ่มฟาตาห์ และไม่รื้อถอนจุดตรวจค้นทั้งหมดระหว่างอิสราเอล-เวสต์แบงค์ รวมทั้งยังไม่เร่งรัดที่จะแก้ไขปัญหา final status issues ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของปาเลสไตน์มาโดยตลอด ได้แก่ (1) เขตแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นปัญหา เนื่องจากอิสราเอลยังคงก่อสร้างที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวอิสราเอล และก่อสร้างกำแพงล้อมรอบพื้นที่ ซึ่งปาเลสไตน์ถือเป็นดินแดนปาเลสไตน์ (2) สิทธิการครอบครองนครเยรูซาเล็ม ซึ่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างต้องการให้นครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง แต่นครเยรูซาเล็มมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชุมชนนับถือศาสนายูดาย คริสต์ และอิสลาม ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกันมาก ทำให้การแบ่งเส้นเขตแดนยากลำบาก และ (3) ปัญหาผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ อิสราเอลต้องการให้ ผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์กลับเข้าสู่พื้นที่รัฐปาเลสไตน์ในปัจจุบัน ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยเดิมก่อนการอพยพออกจากอิสราเอล- เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 51 นาย Ehud Olmert นรม. ได้ประกาศที่จะก้าวลงจากตำแหน่ง นรม. และหัวหน้าพรรค Kadima ภายหลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค Kadima คนใหม่ (primary) ในวันที่ 17 ก.ย. 51 ซึ่งนาง Tzipi Livni ได้รับชัยชนะเป็นหัวหน้าพรรค Kadima คนใหม่ และนาย Ehud Olmert ได้ยื่นใบลาออกต่อ ปธน. Shimon Peres แล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 51 แต่จะยังคงรักษาการนายกรัฐมนตรีจนกว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ คาดว่า การตัดสินใจลาออกของนาย Olmert เป็นผลมาจากแรงกดดันที่นาย Olmert ได้รับจากฝ่ายต่อต้าน อันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของนาย Olmert ในการบริหารจัดการสงครามอิสราเอล-เลบานอน และคดีคอรัปชั่นที่นาย Olmert กำลังถูกสอบสวน

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมว่าอิสราเอลไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่
เริ่มตั้งแต่ยึดถือความเชื่อศาสนาเพื่อยืนกรานกลับมาทั้งที่ๆโลกมุสลิมต่อต้าน
ถึงกับเกิดสงครามใหญ่ๆขึ้นหลายครั้ง จนอาจลามไปเป็นสงครามโลกครั้งที่สามได้เลยที่เดียว เช่นเดียวกับ วิกฤตการณ์คิวบา
แต่ก็น่าเห็นใจชาวยิวที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธ์ไม่น่าจะตำกว่า5ล้านคน ในสมัยฮิตเลอร์ จึงส่งผลให้ขบวนการไซออนนิสต์ประสานงานกันเร็วมากขึ้น
แต่ปัญหายืดเยื้อมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
จุดแปลเปลี่ยน คือ สหรัฐ อิสราเอล ปาเลสไตน์และชาติอาหรับต่างๆ ที่จะต้องหันมาร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้น ก็ยังคงมีเรื่องแบบนี้ คงอยู่ให้เราติดตามต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น อยางแน่นอน

แสดงความคิดเห็น

JPost Israel ข่าวส่งตรงจากอิสราเอลทุกวัน